วิสัยทัศน์ผู้จัดทำ

การศึกษา คือแสงสว่างเว็บนี้เขียนเพื่อเผยแพร่ความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่อยู่ในห้วงการเปลี่ยนถ่ายจากสังคมชนบทสู่สังคมเมือง ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะย้อนกลับไปนับหรือคิดถึงมันได้อีก ผู้เขียนจึงอยากถ่ายทอดถึงระบบการเปลี่ยนแปลงของสังคมคนชนบทสู่สังคมคนสมัยใหม่ชาวบ้านปังกู


สมัครงานราชการและงานทั่วไป

แผนที่บ้านปังกู

26 กุมภาพันธ์, 2553

หลักการทรงงาน

หลักการทรงงาน
ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
๑. “พออยู่พอกิน – คุ้มค่ามากกว่าคุ้มทุน – ขาดทุนคือกำไร”
แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงมุ่งเน้นให้ผลการดำเนินงานตกถึงมือประชาชนโดยตรงเป็นเบื้องแรก เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า นั่นคือ เพื่อความ “พออยู่พอกิน” ขณะเดียวกันก็จะทรงปูพื้นฐานไว้สำหรับความ “อยู่ดีกินดี” ต่อไปในอนาคตด้วย ผลสำเร็จของการดำเนินงานของพระองค์อยู่ที่ความ “คุ้มค่า” มากกว่า “คุ้มทุน” ดังพระราชดำรัสที่ว่า “Our Loss is Our Gain” หรือ “ขาดทุนคือกำไร” เพราะผลที่ได้จากการลงทุน คือ ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ไม่ใช่เป็นตัวเงินหากพิจารณาตามหลักเศรษฐศาสตร์จะถือเป็นการลงทุนที่ขาดทุนหรือไม่คุ้มทุน แต่สำหรับพระองค์แล้วทรงถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ายิ่ง

๒. “ไม่ติดตำรา”
การพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลม และรอมชอมกับสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน คือ “ไม่ติดตำรา” ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย

๓. “บริการรวมที่จุดเดียว One-stop Services”
ทรงเน้นในเรื่องการสร้างความรู้รัก สามัคคีและการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกัน ด้วยการปรับลดช่องว่างระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มักจะต่างคนต่างทำและยึดติดกับการเป็นเจ้าของเป็นสำคัญให้แปรเปลี่ยนเป็นการร่วมมือกันโดยไม่มีเจ้าของ และสามารถอำนวยประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน ดังเห็นได้จากแนวพระราชดำริในการดำเนินงานบริหารของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่ทั้งหมด ๖ ศูนย์ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นับเป็นรูปแบบใหม่ของการบริหารที่เป็นการ “บริการรวมที่จุดเดียว” และ “การบริการแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ “One-stop Services” ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยอย่างแท้จริง

๔. “แก้ปัญหาที่จุดเล็ก”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจริยภาพในการแก้ปัญหา ทรงมองปัญหาในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ (Micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้ามดังพระราชดำรัสที่ว่า “ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออก เป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน มันไม่ได้เป็นการแก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่คิดได้ แบบภาพรวม (Macro) นี้เขาจะทำแบบรื้อทั้งหมด ฉันไม่เห็นด้วย อย่างบ้านคนอยู่ เราบอกบ้านนี้มันผุตรงนั้น ผุตรงนี้ ไม่คุ้มที่จะไปซ่อม เอาตกลงรื้อบ้านนี้ระเบิดเลย เราจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ วิธีทำต้องค่อย ๆ ทำจะไประเบิดหมดไม่ได้”

๕. “ระเบิดจากข้างใน”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเน้นการพัฒนาที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนนั่นคือ ทำให้ชุมชนหมู่บ้านมีความเข้มแข็งก่อนแล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ทันมีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว ทรงใช้ความว่า “ระเบิดจากข้างใน”

๖. “ทำให้ง่าย - Simplicity”
ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทำให้การคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุง และแก้ไขงานการพัฒนาประเทศ ตามแนวพระราชดำริดำเนินไปได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศโดยส่วนรวม ตลอดจนสภาพทางสังคมของชุมชนนั้น ๆ ทรงโปรด ที่จะทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย อันเป็นการแก้ปัญหาด้วยใช้กฎแห่งธรรมชาติเป็นแนวทางนั่นเอง แต่การทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่ายนั้นเป็นของยาก ฉะนั้นคำว่า “ทำให้ง่าย” หรือ “Simpilicity” จึงเป็นหลักคิดสำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศในรูปแบบของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๗. “ใช้อธรรมปราบอธรรม”
นอกเหนือจากการ “ทำให้ง่าย” แล้ว ยังทรงนำความจริงในเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติ และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการ แนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปรกติให้เข้าสู่ระบบที่เป็นปรกติเช่น การนำน้ำดีขับไล่น้ำเสีย หรือเจือจางน้ำเสียให้กลับเป็นน้ำดี ตามจังหวะการขึ้นลงตามธรรมชาติของน้ำ การบำบัดน้ำเน่าเสียโดยใช้ผักตบชวา ซึ่งมีตามธรรมชาติให้ดูดซับสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำดังพระราชดำรัสว่า “ใช้อธรรมปราบอธรรม”


ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง

“ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม้หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นพืชอย่างหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นพืชอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้าง ๆ ใหญ่ ๆ การที่จะปลูกต้นไม้สำหรับได้ประโยชน์ดังนี้ ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้รู้สึกจะไม่ใช่ป่าไม้ เป็นสวนหรือจะเป็นสวนมากกว่าป่าไม้ แต่ในความหมายของการช่วยเหลือเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตาม นั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือ เป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัยพากรในด้านสำหรับให้ผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้”
ประโยชน์ที่ได้รับ
ในการปลูกป่า ๓ อย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชาธิบายถึงประโยชน์ในการปลูกป่าตามพระราชดำริว่า
“การปลูกป่า ๓ อย่าง แต่ให้ประโยชน์ ๔ อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟื้นนั้น สามารถใช้ประโยชน์ได้ถึง ๔ อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์ที่ ๔ ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย”

การเกษตรแบบยั่งยืนมีด้วยกัน ๕ ประเภท คือ

๑. เกษตรธรรมชาติ คือ รูปแบบการเกษตรที่สร้างผลผลิตพืชและสัตว์ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศของพื้นที่ โดยพยายามแทรกแซงการใช้ปัจจัยและเทคโนโลยีทางการผลิต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด เพื่อให้ระบบเกษตรกรรมและธรรมชาติเกื้อกูลซึ่งกันและกันเป็นองค์รวม

๒. เกษตรอินทรีย์ คือ รูปแบบการเกษตรที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพ มีการใช้ซากสัตว์ มูลสัตว์ การปลูกพืชหมุนเวียน แร่ธาตุตามธรรมชาติในการปรับปรุงดิน ผสมผสานกับการกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี หรือสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ช่วยในการควบคุมและทำลายศัตรูพืช

๓. เกษตรผสมผสาน คือ รูปแบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและหรือมีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกันโดยที่กิจกรรมการผลิตแต่ละชนิดจะต้องสามารถเกื้อกูลประโยชน์กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นา เช่น ดิน น้ำ แสงแดด อย่างเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งมีความสมดุลของสภาพแวดล้อมและเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ

๔. วนเกษตร คือ รูปแบบการเกษตรที่มีระบบการใช้ที่ดินเพื่อดำรงกิจกรรมการเกษตรต่าง ๆ ระหว่างต้นไม้ในพื้นที่ป่าหรือไม้ยืนต้นที่ปลูกขึ้น โดยที่การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์จะต้องมีความสอดคล้องซึ่งกันและกัน และเน้นการจัดการป่าไม้ให้ใช้ประโยชน์ร่วมกับกิจกรรมทางการเกษตรได้ รวมทั้งเกื้อกูลต่อระบบนิเวศป่าไม้ในท้องถิ่น

๕. เกษตรทฤษฎีใหม่ คือ รูปแบบการเกษตรที่มาจากแนวคิดหรือทฤษฎีที่เน้นการจัดการทรัพยากรน้ำในไร่ เพื่อสร้างผลผลิตอาหารที่เพียงพอ และเพื่อการผลิตที่หลากหลายสำหรับเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงแก่ครัวเรือนเกษตรกรตลอดจนเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนและขาดแคลนทรัพยากรให้บรรเทาลงจนกระทั่งพัฒนาถึงขั้นที่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยแบ่งสัดส่วนพื้นที่ดำเนินการออกเป็น ๓๐ : ๓๐ : ๑๐ เพื่อใช้ในการปลูกข้าว ปลูกไม้ยืนต้น พื้นที่ขุดสระกักเก็บน้ำ และที่เหลือใช้เป็นที่อยู่อาศัยตามลำดับ ซึ่งสัดส่วนของพื้นที่สามารถยืดหยุ่นได้ตามสภาพของพื้นที่และขนาดของแรงงานในครัวเรือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น